ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
Information and Communication Technology Center
 

ประวัติศูนย์โนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

กรมศุลกากรได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ในระยะแรกได้มีการประมวลผลข้อมูลจากการบันทึกข้อมูลใบขนสินค้าลงบนบัตรเจาะรู เพื่อออกรายงานสถิติด้วยเครื่อง UNIVAC หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2526 ได้ติดตั้งเครื่อง B3955 เพื่อใช้ในการบันทึกการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร และจัดทำข้อมูลสถิติ

ต่อมาในปี พ.ศ.2532 กองคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาระบบ Online ในการผ่านพิธีการศุลกากร และชำระอากรด้านการนำเข้า ส่วนด้านการส่งออกได้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบการรับบรรทุก โดยบันทึกข้อมูลจาก Tally Sheet ด้วยเครื่อง A10 ซึ่งได้มีการติดตั้งใช้งานที่ กองพิธีการและประเมินอากร และกองเก็บอากร ณ ท่าเรือกรุงเทพเท่านั้น โดยผู้ประกอบการมายื่นเอกสารใบขนสินค้า เพื่อผ่านพิธีการและตรวจสอบราคาก่อนแล้วจึงให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกรายละเอียดของใบขนสินค้า ก่อนนำไปชำระค่าภาษีอากร ระบบงานส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual อยู่ ดังนั้นเพื่อลดขั้นตอนการบันทึกข้อมูลใบขนสินค้าและก้าวไปสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในอนาคต กองคอมพิวเตอร์ จึงได้นำเอาระบบ Electronic Data Interchange (EDI) มาใช้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะในการบริหารงานของกรมศุลกากร ดังนั้นในปี พ.ศ.2536 กรมศุลกากรจึงได้จ้างที่ปรึกษาจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้มีการพัฒนาและใช้ระบบ EDI สำหรับศุลกากรแบบครบวงจรและมีขั้นตอนพิธีการสำหรับกากรนำเข้า-ส่งออกใกล้เคียงกับระบบงานของกรมศุลกากรไทย? กองคอมพิวเตอร์ได้ประกาศประกวดราคาจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เพื่อพัฒนาระบบ EDI ในปี พ.ศ.2537 โดยบริษัทสยามยูนิซีส จำกัด ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา หลังจากพัฒนาระบบงานเสร็จแล้วได้มีการติดตั้งใช้งานทั้งระบบการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งระบบงานภายในสำนักงาน พร้อมทั้งทำการติดตั้ง PC กระจายไปยังสำนักงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยสามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ที่ส่วนกลางในลักษณะ EDI Based Online System เพื่อทำการรับ-ส่งข้อมูลทั้งภายในกรมศุลกากรและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก เช่น ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนออกของ บริษัทสายการบิน ตัวแทนสายเรือ ธนาคาร เป็นต้น ในลักษณะ Single Window โดยใช้มาตรฐานของ UN/EDIFACT ซึ่งสามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด

ในเดือนกรกฎาคม 2551 ได้มีการพัฒนาเป็นระบบศุลกากรไร้เอกสาร (e-Customs) และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นระบบ Thai Customs Electronic System (TCES) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้มาตรฐานของ ebXML ผ่านระบบ National Single Window (NSW)

กรมศุลกากรได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดตั้งระบบ NSW ของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ตามความตกลงอาเซียน สำหรับการจัดตั้ง ASEAN Single Window โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งมีข้อผูกพันในการจัดตั้งระบบ NSW ภายใน ปี พ.ศ.2551 ระบบ NSW ของประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศทั่วโลก โดยไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 19 มีนาคม 2564 15:08:01

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ลิขสิทธิ์ 2015 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและคลังข้อมูล ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ